วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

การแต่งกายและบุคลิกภาพของพนักงานขาย

ความสำคัญของบุคลิกภาพต่องานบริการ

บุคลิกภาพ สร้างความรู้สึกต่อผู้พบเห็นว่า ชอบหรือไม่ชอบ หรือเกิดความรู้สึกต่อคน ๆ นั้นอย่างไร เช่น เป็นคนมีเสน่ห์น่าคบหาสมาคมด้วย มีสง่าน่าเกรงขาม หรือกลับเป็นตรงข้ามคือ ไม่น่าคบเสียเลย บุคลิกภาพทำให้คนเกิดความรู้สึกทางใจ ซึ่งทำให้เกิดอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ความคิด สติปัญญา หรือการตัดสินใจที่ต้องใช้เหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะบุคลิกภาพที่ผู้ให้บริการพึงพิจารณา

นักจิตวิทยาแบ่งลักษณะบุคลิกภาพออกเป็นแบบต่าง ๆ เพื่อเลือกอธิบายตามทฤษฎีของตน ที่ใคร่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ การแบ่งบุคลิกภาพเพื่อแสดงผลดีผลเสียของแต่ละประเภท ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ลักษณะ ได้แก่ ลักษณะดึงดูด ลักษณะเป็นกลาง และลักษณะผลักใส ซึ่งแต่ละลักษณะจะให้ผลในแต่ละสถานการณ์ต่างกันออกไป
ยังมีลักษณะที่กล่าวถึงกันมากในอีกทฤษฎีหนึ่ง แบ่งบุคลิกภาพออกเป็น 2 ประเภท คือ ลักษณะที่เก็บตัว (introvert) และลักษณะที่แสดงตัว (extrovert) และในแต่ละลักษณะมีข้อเสียรวมอยู่ด้วยกัน คนทั่วไปจะมีสองลักษณะผสมกัน แต่บางคนมีลักษณะหนักไปทางด้านเก็บตัว ซึ่งเหมาะสมสำหรับหน้าที่การงานบางอย่าง เช่น เป็นนักคิด นักประดิษฐ์ นักบัญชี ฯลฯ พวกที่มีลักษณะแสดงตัวก็เหมาะแก่งานติดต่อกับบุคคลมากหน้าหลายตา เป็นบรรณารักษ์ เจ้าหน้าที่ห้องสมุด นักธุรกิจ นักการเมือง พนักงานขาย
แท้จริงแต่ละคนมิใช่จะมีลักษณะของบุคลิกภาพตามที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เท่า นั้น ยังมีบุคลิกลักษณะอย่างหนึ่งที่โต๊ะอาหาร ในงานสังคม ในห้องประชุม กับญาติ กับเพื่อน กับคนแปลกหน้า จะมีการปรับให้เข้ากับภาวการณ์ในขณะนั้น

ผู้ให้บริการควรมีบุคลิกภาพเช่นไร

1. ส่วนเกี่ยวกับกาย ได้แก่ การมีสุขภาพพลานามัยดี แต่งกายสะอาดและเรียบร้อย กิริยาท่าทางสง่า ท่าทางร่าเริง แจ่มใส ว่องไว แต่ไม่ใช่หลุกหลิกลุกลน
2. เสียงและภาษาที่พูด น้ำเสียงแจ่มใส ชัดเจน ไม่เบาและไม่ดังเกินไป พูดจาฉะฉาน ได้เรื่องได้ราว ไม่เพ้อเจ้อหรือพูดคลุมเครือ ภาษาที่พูดเป็นภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจ ใช้ภาษาเหมาะแก่บุคคลและถูกกาลเทศะ

วิธีปรับปรุงแก้ไขให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น

1. การมอง สายตาสามารถบอกถึงความรัก ความเกลียดชัง ความเมตตาปรานี ความโกรธแค้น ความเคารพนับถือ หรือความเหยียดหยาม ดูหมิ่นดูแคลน ฉะนั้น เมื่อเรามองใคร เราจะต้องพยายามใช้สายตาด้วยความสุภาพเรียบร้อย ระวังในการใช้สายตาอย่าให้คนอื่นเกิดความเข้าใจผิดได้
2. การแต่งกาย ต้องคำนึงถึงความสะอาดเรียบร้อย ถูกต้องและเหมาะสมกับกาลเทศะ แต่งกายให้พอดี อย่าให้มากเกินไปจนกลายเป็นน่าเกลียด
3. การพูด ต้องมีศิลปะในการพูด พูดให้ชนะใจผู้ฟัง โดยจะต้องใช้คำพูดที่มีเหตุผล สุภาพ ไพเราะ และใช้คำพูดที่เหมาะสมกับผู้ฟัง (โดยคำนึงถึงวัย เพศ ระดับการศึกษา อาชีพ และความสนใจพิเศษของผู้ฟัง) สถานที่ เวลา และโอกาส
4. การเดิน ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดเสียงดังจนเกินไป ซึ่งจะทำให้เป็นที่รบกวนผู้อื่น ต้องเดินให้ตัวตรง อกผายไหล่ผึ่ง เดินให้มีท่าทางสง่าและเรียบร้อย ไม่เดินผ่ากลางผู้อื่นที่ยืนสนทนากันอยู่
5. การแสดงท่าทาง ต้องระวังท่าทางที่ไม่สวยงาม เวลาพูดหรือทำอะไรก็ตาม อย่ามีการแสดงท่าประกอบมากเกินไปจนน่าเกลียด หรือแสดงท่าที่ไม่สุภาพ
6. ทักษะในการทำงาน ในการทำงานใด ๆ ก็ตามจะต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ต้องทำด้วยท่าทางคล่องแคล่ว ด้วยความชำนาญ และให้ได้ผลงานดีเด่น
7. สุขภาพ ต้องระวังสุขภาพให้ดี อย่าให้มีโรค ระวังรักษาสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่เสมอ

ที่มา http://www.thaiphar-asso.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=561561&Ntype=11